www.graphicproduce.com
  เพิ่มเพื่อน แผนที่กราฟฟิกโปรดิวซ์ รับทำป้ายโฆษณา

นโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

นโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

 
นโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) : เรื่องดีๆที่ต้องอธิบาย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ พบ., อว., MPHM.

ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข

ทำไมต้องมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสุขภาพมายาวนาน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นมาก เห็นได้จากโรคติดเชื้อสำคัญลดลง อัตราทารกตายและอัตราส่วนมารดาตายลดลงมาก คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นมาก และมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลก่อน คือ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ ทว่าระบบบริการที่มีอยู่ยังไม่อาจทำให้คนใช้บริการได้อย่างถูกที่ถูกทาง ประชาชนมักจะเชื่อถือและไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ แม้ว่าโรคส่วนใหญ่ไม่ต้องการแพทย์ในการรักษา โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะโรค การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังถูกละเลย ลงทุนด้านนี้น้อยทั้งๆที่ต้นทุนต่ำกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และแนวโน้มการเกิดโรคที่เป็นภาระต่อสังคมและประเทศชาติ เปลี่ยนเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมและสามารถป้องกันได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง การยกระดับสถานีอนามัยที่มีกว่า 9 พันแห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จึงเป็นจุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขครั้งสำคัญที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพของ ประเทศไทย

บริการดีมีใกล้บ้าน
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีรั้วตำบลเป็นรั้วของโรงพยาบาล เตียงที่บ้านผู้ป่วยคือเตียงของโรงพยาบาล มีทีมสหวิชาชีพ อาทิ พยาบาลวิชาชีพหรือเวชปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทันตาภิบาล นักกายภาพ และอื่นๆ รวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในตำบลที่รับผิดชอบ ดูแลคนไม่ใช่แค่ดูแลโรค โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจึงใกล้ชิดทั้งกายและใจกับชาวบ้าน โดยใช้กลยุทธ์การสาธารณสุขมูลฐานที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุข ของไทยได้ผลดีมาอย่างต่อเนื่อง ที่รพ.สต.จะต้องมีแฟ้มครอบครัวและข้อมูลชุมชนอย่างครบถ้วน เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ คือ ยกระดับสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าปกติ เช่น ทำให้เกิดการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ และการป้องกันโรคทั้งในบุคคลและชุมชน นอกจากนั้นการรักษาโรคซึ่งไม่ได้มุ่งหวังให้มีแพทย์ไปอยู่ประจำทุกแห่ง พยาบาลวิชาชีพหรือพยาบาลเวชปฏิบัติ สามารถให้การดูแลรักษาโรคทั่วไป รวมถึงการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีสื่อสารกับโรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่ายก็ทำให้ ขีดความสามารถในการดูแลรักษาโรคมีมากขึ้น แพทย์สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยที่ รพ.สต.ได้ วินิจฉัยโรคจากทางไกลได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่ได้วิกฤตก็สามารถกลับมาอยู่ในความดูแลของทีม รพ.สต. ซึ่งอยู่ใกล้บ้านได้ ใครอยากจะไปนอนป่วยอย่างเหงาๆ ที่โรงพยาบาลในเมือง หาก รพ.สต. ใกล้บ้านดูแลได้ไม่แพ้กัน

หนทางใหม่ของการกระจายอำนาจ
หลักเกณฑ์ข้อหนึ่งและเป็นข้อที่สำคัญของ รพ.สต. คือ การบริหารงาน รพ.สต. อย่างมีส่วนร่วม กำหนดให้มีกรรมการบริหาร รพ.สต. โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ฝ่ายท้องถิ่น (ผู้แทน อบต./เทศบาล) ฝ่ายชุมชนอาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือประชาชน และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการด้วย ร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาสุขภาพ การบริหารงาน รวมถึงให้ความสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ การทำงานของ รพ.สต. ควรผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ รพ.สต. ดังกล่าว นี่นับว่าเป็นรูปแบบของการกระจายอำนาจที่แท้จริง โดยไม่ต้องใช้รูปแบบถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ขาดการเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพในระดับอื่นๆ

งบไทยเข้มแข้งมีปัญหาจริงหรือ
เป้าหมายการพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็น รพ.สต. ต้องการการสนับสนุนในทุกๆมิติ งบไทยเข้มแข้งไม่ใช่งบประมาณทั้งหมดที่จะใช้พัฒนาและดำเนินการใน รพ.สต. เป็นเพียงงบประมาณส่วนหนึ่งเท่านั้น การสนับสนุนจากโครงการไทยเข้มแข็ง คือการปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น จำนวน 5 แสนบาท งบจัดหาครุภัณฑ์ จำนวน 8.5 แสนบาท รถพยาบาลสำหรับส่งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลแห่งละ 1 คัน โดยให้รถพยาบาลประจำอยู่ที่โรงพยาบาลแม่ข่าย การก่อสร้างทดแทนกรณีที่สถานีอนามัยที่มีโครงสร้างชั้นเดียวแบบเก่า การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการก่อสร้างและการจัดหาครุภัณฑ์ต่างๆจะต้องดำเนิน การโดยพื้นที่ ไม่มีการจัดซื้อรวมที่ส่วนกลาง โดยรายการครุภัณฑ์ที่หลายฝ่ายห่วงใย ก็เนื่องจากไม่รู้ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง และข้อจำกัดในการดำเนินการ

เหตุใดจึงต้องกำหนดรายการครุภัณฑ์
กระบวนการที่จะได้มาซึ่งงบลงทุนโครงการไทยเข้มแข็ง ไม่อาจให้งบประมาณไปยังพื้นที่แล้วให้มีการเลือกซื้ออย่างเสรีภายหลัง เนื่องจากส่วนกลางจะต้องกรอกข้อมูลอิเลคโทรนิค เพื่อให้สำนักงบประมาณเห็นชอบเป็นรายแห่ง และครุภัณฑ์รายชิ้น หากเลือกครุภัณฑ์ที่ต้องการอย่างเสรี (รายการครุภัณฑ์ในสถานีอนามัยมีประมาณ 200-500 รายการ) ซึ่งมีรายการจำนวนมาก ประกอบกับจำนวนสถานีอนามัยทั้งหมด 9,762 แห่งทั่วประเทศ ความเป็นไปได้ในทางเทคนิคไม่มี จึงได้ตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอขยายเวลาเพื่อจัดทำขบวนการคัดเลือกรายการครุภัณฑ์ที่จำเป็นจำนวน หนึ่ง ให้รพ.สต. แต่ละแห่งสามารถเลือกได้ตามความจำเป็นเหมาะสมกับหน่วยบริการของตนเองในวง เงินไม่เกิน 8.5 แสนบาทต่อแห่ง โดยมีการประชุม 2 ครั้ง มีผู้แทนจากหลายฝ่าย อาทิ ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นักวิชาการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตัวแทน รพ.สต. การประชุมครั้งแรกมีมติให้ขอให้จังหวัดต่างๆเสนอกรอบรายการครุภัณฑ์ที่ รพ.สต.ควรมี และการประชุมครั้งที่สองได้มีการคัดเลือกให้เหลือรายการครุภัณฑ์ที่เหมาะสม และจำเป็น เหลือเพียง 46 รายการ เป็นกรอบให้เลือกจากนั้นก็แจ้งให้จังหวัดทำการรวบรวมความต้องการกลับมาใน เวลาที่กำหนด บางรายการก็ถูกหยิบยก ขึ้นมาเป็นข่าวแบบไม่เข้าใจ เช่น เครื่องอุลตร้าซาวด์ ก็มีเงื่อนไขการคัดเลือกว่าจะต้องมีแพทย์ที่สามารถใช้เครื่องมือนั้นได้ หรือเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ก็ต้องมีอย่างน้อยพยาบาลเวชปฏิบัติอยู่ รถกระบะก็จะต้องมีการบริหารจัดการแบบเครือข่ายไม่ได้กำหนดให้รพ.สต.ทุกแห่ง ต้องมีครุภัณฑ์ดังกล่าว เป็นต้น

เรื่องดีๆ เพื่อประชาชนรากหญ้า
การเสนอข้อท้วงติงในสื่อแบบเหมารวม โดยขาดความเข้าใจ โดยมุ่งหวังจะดิสเครดิตคนทำงานเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง และควรจะมาช่วยกันคิดทำและแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้เรื่องนี้สำเร็จลุล่วง เพราะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาชน ถ้าหากมีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือ สุขภาพดีของคนไทย บนความสุจริตโปร่งใสเป็นที่ตั้ง

ข้อมูลจาก : http://phmahidol-bhusita.blogspot.com/2010/02/blog-post.html

รับทำป้ายตัวอักษรโลหะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)



| ป้ายตัวอักษรสแตนเลส | ป้ายตัวอักษรสังกะสี | ป้ายตัวอักษรทองเหลือง | ป้ายตัวอักษรทองแดง | อักษรโลหะ | ป้ายกล่องไฟ | สมัครงาน
 
Graphicproduce Co.,Ltd.
Tel/FAX:02-538-6823 Mobile:081-866-8060 E-mail: [email protected]
ที่อยู่: 5/4 หมู่บ้านกู๊ดวิลล์ ซอยนาคนิวาส 30 ถนนนาคนิวาส แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230